อาการออฟฟิศซินโดรม แก้ไขได้

 

ข้อมูลผู้ป่วยในไทยปัจจุบันพบว่ากว่า 50% ของพนักงานออฟฟิศ มีอาการออฟฟิศซินโดรม ซึ่งเกิดจากการนั่งไม่ถูกท่าเป็นส่วนใหญ่ กลุ่มอาการมีหลากหลาย เช่น ปวดกล้ามเนื้อคอ บ่า หลังอักเสบ พังผืดทับเส้น ปวดข้อมือ ข้อศอก นิ้วล็อก และกระดูกคอและหลังทับเส้น ทั้งนี้ใช่ว่าอาการออฟฟิศซินโดรมจะเกิดขึ้นเฉพาะกับคนในออฟฟิศ ผู้ที่ทำงานในแบบอื่นๆ หากไม่มีจัดระเบียบร่างกายให้ถูกต้อง หรืออยู่ในท่าเดิมนานๆ ก็สามารถเป็นได้เช่นเดียวกันการแก้ปัญหาออฟฟิศซินโดรม สามารถทำได้โดยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทำงานซึ่งจะเป็นการแก้ปัญหาได้ในระยะยาว และเป็นสิ่งที่ควรทำเมื่อมีอาการตั้งแต่แรกเพราะทำได้ง่ายกว่าการรักษาเมื่อเกิดอาการเรื้อรัง

รักษาตนเองอย่างไรหากมีอาการออฟฟิศ

• ขยับตัวยืดกล้ามเนื้อและปรับท่าทางให้ถูกต้อง
อาการปวดตึงตามจุดต่าง ๆ มีสาเหตุจากการที่เราไม่ได้เคลื่อนไหวร่างกายหรืออยู่ในท่าเดิมนาน ๆ ยิ่งหากอยู่ในท่าทางที่ผิด ก็จะยิ่งทำให้เกิดอาการได้ง่ายขึ้น ดังนั้นควรลุกขึ้นขยับร่างกายบ้างเพื่อเป็นการยืดคล้ายกล้ามเนื้อ และลองศึกษาท่านั่งทำงานที่ถูกต้องดูสักครั้ง

• ปรับอุปกรณ์ในออฟฟิศให้พอเหมาะพอดีกับสรีระ
สภาพแวดล้อมในที่ทำงานที่เราอยู่ก็เป็นปัจจัยสำคัญในการเกิดอาการออฟฟิศซินโดรม หากเก้าอี้ไม่ดี การจัดวางคอมพิวเตอร์บนโต๊ะไม่เหมาะสม ต้องแหงนคอขึ้นและท่านั่งทำให้หลังอยู่ในท่าที่ไม่ถูกต้องก็ทำให้เกิดอาการออฟฟิศซินโดรมได้

• ออกกำลังกายเพิ่มความแข็งแรงและยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อ
ความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อและความแข็งแรงของร่างกายแต่ละคนไม่เท่ากัน ผู้ที่ออกกำลังกายสม่ำเสมอจะแข็งแรงและมีความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อมากกว่า โอกาสที่จะเป็นออฟฟิศซินโดรมจึงน้อยกว่า สังเกตได้จากการที่บางคนปวดหลังอยู่บ่อยๆ แต่ในบางคนไม่มีพูดว่าปวดกล้ามเนื้อหรือปวดอะไรเลย

• ลดน้ำหนัก ลดการบาดเจ็บ
น้ำหนักตัวมีส่วนเกี่ยวข้องอย่างมาก โดยเฉพาะการปวดที่หลังกับเข่า หากน้ำหนักตัวมากยิ่งส่งผลต่อหลังและเข่ามาก หากควบคุมน้ำหนักไปด้วยและระวังเรื่องอื่นไปด้วยก็จะลดโอกาสของการบาดเจ็บที่อาจจะเกิดขึ้นได้